วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บันทึกความทรงจำ แสงธรรมดนตรีศักดิ์สิทธิ์



  บันทึกความทรงจำ...แสงธรรมดนตรีศักดิ์สิทธิ์ 

บทเพลงแสงธรรมในแต่ละยุคสมัยมีความเป็นมาอย่างไร และมีกว่าจะมาถึงเพลงอัลบัมแสงธรรมในปัจจุบันนั้น จะมีเรื่องราวใดที่น่าประทับใจกันบ้าง วันนี้ผมขอนำทุกท่านย้อนวันวานกลับไปสู่ยุคแรกของการบันทึกเสียง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น และทำให้ชื่อ “ แสงธรรม ” นี้ ได้ดำเนินงานรับใช้ด้านดนตรีศักดิ์สิทธิ์ให้กับพระศาสนจักอย่างยาวนานกว่า 36 ปี แน่นอนว่ามีการพัฒนาขึ้นในทุกๆด้าน ทั้งด้านคุณภาพ และเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่ง ณ สถานที่แห่งนี้ มีทั้งความสุข ความทุกข์ และความยากลำบาก เคล้ากันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยจางหายไป นั่นคือพระหรรษทานจากพระเจ้า ที่มอบให้แก่บรรดาสามเณรทุกคน

สำหรับชื่อที่เขียนเรื่องราวในอดีตนี้ บราเดอร์หลายคนได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว แต่เพื่อให้ผู้อ่านบทความนี้ทุกท่าน ได้สัมผัสถึงช่วงเวลานั้นจริงๆ ผู้เขียนจึงของใช้คำนำหน้าทุกคนว่า บราเดอร์ เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวอันน่าประทับใจนี้

แสงธรรมชุดที่ 1 (1978)   จำนวน 29 เพลง

กลุ่มสามเณรที่สนใจและรับผิดชอบเกี่ยวกับเพลงศักดิ์สิทธิ์ และการซ้อมขับร้อง อันประกอบด้วย บร.ไชโย  กิจสกุล, บร.วิทยา  แก้วแหวน, บร.กรรฐ์  กรองทอง, บร.สุพรรณ  กิจเจา, บร.สุทศ  ประมวลพร้อม  ได้ร่วมมือกันจัดทำเทปแสงธรรมชุดที่ 1 ขึ้น โดยได้รับเครื่องเทป AKAI  X-165D  จากคุณพ่อยัง ดังโตแนล มีวิธีการอัดเทป คือ พากันเข้าไปอัดเสียงร้องและเล่นดนตรีสดกันในห้องน้ำ(น่าจะเป็นห้องพักเณร ตึก 3) เพื่อให้ได้เสียงที่ก้อง และไม่มีเสียงรบกวนจากบรรยากาศภายนอก ด้วยความพยายามของเหล่าสามเณรอันนี้เอง ที่ได้จุดประกายความคิดริเริ่ม ของคุณพ่อสำราญ  วงศ์เสงี่ยม ได้ขอทุนจากต่างประเทศเพื่อสร้างห้องอัดเสียงในเวลาต่อมา
 

แสงธรรมชุดที่ 2 (1979)   จำนวน 29 เพลง

แสงธรรม ชุด 2 อัดเสียงที่ห้องอัดซาเลเซียน ลักษณะดนตรี ใช้กีต้าร์โปร่ง 3 ตัว โดย บร.สุทศ  ประมวลพร้อม, บร.ประเวศ  พันธุมจินดา, บร.สุรชาติ  แก้วเสนีย์  ใช้เวลาหลังอาหารเย็นจนถึงประมาณสามทุ่ม
 

แสงธรรมชุดที่ 3 (1980)   จำนวน 25 เพลง
ห้องอัดเสียงของแสงธรรมเอง ถือกำเนิดขึ้นโดยการริเริ่มของ คพ.สำราญ  วงศ์เสงี่ยม ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการดนตรีศักดิ์สิทธิ์ระดับชาติอยู่ในขณะนั้น  เทปชุดนี้จัดทำขึ้น โดยยกเครื่องเทป 4 แทรค ไปอัดเสียงนักร้องแสงธรรมทุกคนในวัดบ้านเณร ในเวลาซ้อมขับร้องวันพุธเย็น ผู้รับผิดชอบห้องอัดเสียง คือ บร.วีรพันธ์  แก้วมังกร และมี บร.ไพศาล  อานามวัฒน์ เป็นผู้อำนวยเพลง  บร.วีรชัย บุญประสงค์ เป็นผู้เล่นออร์แกน  บร.สุรชาติ  แก้วเสนีย์ เล่นเบสกีตาร์
 

แสงธรรมชุดที่ 4 (1982)   จำนวน 27 เพลง
เริ่มใช้วง String combo โดยเสริม Piano เข้ามาเล่นพร้อมกัน ใช้เทป 4 แทรค และบันทึกเสียงร้องภายหลังเมื่อทำการบันทึกเสียงดนตรีเสร็จแล้ว
 

แสงธรรมชุดที่ 5 (1983)   จำนวน 18 เพลง
ดำเนินการบันทึกเสียงโดย บร.อนุรักษ์  ประจงกิจ, บร.สุพจน์  ฤกษ์สุจริต(ผู้ดูแลห้องอัดเสียง)

 
แสงธรรมชุดที่ 6 (1984)    จำนวน 16 เพลง
ลักษณะดนตรีคล้ายคลึงกับชุดที่ 4 ผู้ดูแลการผลิต คือ บร.สุพจน์  ฤกษ์สุจริต(ผู้ดูแลห้องอัดเสียง)
 

                แสงธรรมชุดที่ 7 (1985)   จำนวน 14 เพลง
บันทึกดนตรีโดยอัดเสียงทีละชิ้น นักดนตรีได้แก่ บร.อรรถพร  วรศิลป์เล่นออร์แกน-เปียโน-กีต้าร์, บร.สุรชาติ  แก้วเสนีย์ เล่นเบสกีต้าร์-ออร์แกน ส่วนนักร้องได้แก่ บร.สุรชาติ  แก้วเสนีย์, บร.ประสิทธิ์  เครือตาแก้ว, บร.เกรียงศักดิ์  แซ่โง้ว, บร.สุทธิ  ปุคละนันท์ และมีเพลงของ บร.อนุรักษ์  ประจงกิจ ที่บันทึกเสียงที่ห้องอัด D.C.S. ของ อาจารย์เรวัติ  จันตะแสง จำนวน 2 เพลง
 

แสงธรรมชุดที่ 8 (1989)   จำนวน 14 เพลง
รวบรวมบทเพลง ทั้งเก่าและใหม่ จำนวน 14 เพลง
 

แสงธรรมชุดที่ 9 (1993)   จำนวน 12 เพลง
ในช่วงเวลานี้ ได้พยายามปรับปรุงห้องบันทึกเสียง และนำบทเพลงจากหนังสือบรรณาการที่ยังไม่เคยทำเทป ร่วมกับบทเพลงที่ คพ.โมลิ่ง เคยเรียบเรียงเสียงประสานไว้ และมีเพลงใหม่ 3 เพลง ของ บร.สุพัฒน์ คือเพลง ข้าแต่พระเจ้า, พลังชีวิต, พระคริสตกายา(โปรยดอกไม้) สำหรับนักร้องนั้นมีซิสเตอร์จากคณะธิดาพระราชินีมาเรียผู้นิรมล และคณะนักขับร้องกลุ่มเซซีลีอา วัดนักบุญเปโตร เข้ามาช่วย  เพลงชุดนี้บันทึกเสียงโดย บร.อดิศักดิ์  กิจบุญชู เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ต้นปีการอบรม 1994 โดยใช้ช่วงเวลาหลังอาหารค่ำของทุกวัน เมื่อการบันทึกเสียงเสร็จ จึงได้ติดต่อ คุณสังวรณ์  ดวงคำ ให้ช่วยมิกซ์ดาวน์ให้ โดยยกเครื่องเทป 8 แทรคไปมิกซ์ดาวน์ที่ห้องอัดกรุงเทพฯ 
 

แสงธรรมชุดที่ 10 (1995)   จำนวน 10 เพลง
ใช้เวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือน ตุลาคม 94 โดยซื้อเครื่อง KORG 01 w/fd  มาใช้เป็นเครื่องดนตรีหลักในการเรียบเรียงดนตรี เริ่มบันทึกเสียงร้องราวๆเดือน มิถุนายน 1995 และออกเป็น Demo ในงานบวชสังฆานุกรประจำปี 1995  มิกซ์ดาวน์ครั้งสุดท้ายที่ D.C.S. ราวกลางเดือน สิงหาคม 1995
 
 
โปรดติดตามตอนต่อไปครั้งหน้า
กับดนตรีศักดิ์สิทธิ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบัน