ประวัติความเป็นมา


คณะอนุกรรมการดนตรีศักดิ์สิทธิ์
สามเณราลัยแสงธรรม

บทนำ
“ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดารเป็นคนชอบกลนัก” แต่โดยทั่วไปเรามักพบว่ามีบรรดาผู้มีดนตรีอยู่ในสายเลือดมากมายจนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีชนชาติใดที่ไม่มีดนตรี ในพระคัมภีร์เราพบว่า หลายตอนได้พูดเดี่ยวกับดนตรี เช่น การเข้าเมืองเยริโค “ในวันที่เจ็ดนั้นเจ้าทั้งหลายจงเดินรอบเมืองเจ็ดรอบ ให้ปุโรหิตเป่าเขาแกะไปด้วย” (ยชว 6:4) หรือดาวิดดีดพิณถวายซาอูล “เมื่อใดที่พระเจ้าทรงยอมให้จิตชั่วร้ายเข้าสิงซาอูล ดาวิดจะเอาพิณมาดีด แล้วกษัตริย์ซาอูลก็ทรงรู้สึกสงบ สบายพระทัยขึ้น จิตชั่วร้ายก็ผละไปจากพระองค์” (1ซมอ 16:23) หรือในหนังสือสดุดี “จงร้องเพลงบทใหม่ถวายพระองค์ จงดีดสายอย่างคล่องแคล่ว พร้อมกับโห่ร้อง” (สดด 33:3)

สำหรับบ้านเณรแสงธรรมเองอาจกล่าวได้ว่าเป็นสถาบันหนึ่งที่มีส่วนในการสร้างสรรค์สืบต่อบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ของประเทศไทย เพราะที่นี่ส่วนหนึ่งได้รวบรวมบทเพลงจากทั่วสารทิศและได้ให้กำเนิดบทเพลงใหม่ๆ จากบรรดานักแต่งเพลงทั่วประเทศซึ่งใช้ชีวิตการเป็นเณรอยู่ในบ้านแสงธรรมแห่งนี้

เริ่มสร้างผลงานเพลง
กว่าจะมาเป็นอนุกรรมการบทเพลงศักดิ์สิทธิ์แห่งบ้านแสงธรรมในวันนี้ได้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านมรสุมมาหลายฤดูกาล เมื่อมองย้อนอดีตไป สมัยแรกเริ่มงานที่ทำได้แก่การหัดขับ การเขียนโน๊ตเพลง การทำชีท การจัดหาหนังสือมาบริการเพื่อเณรใช้ในพิธีกรรม เริ่มแรกทีเดียวยังไม่มีการแต่งเพลงใหม่เกิดขึ้นในบ้านเณรแสงธรรม

แรงจูงใจ
สมัยนั้นงานหัดขับนับได้ว่าเป็นงานหลักที่มีความสำคัญและเป็นงานเริ่มแรก เพราะเรามีการใช้บทเพลงในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทุกวัน และในบางโอกาสก็ต้องออกไปร้องนอกสถานที่ด้วย บทเพลงที่ถูกนำมาใช้ในการหัดขับ ยุคนั้นราวปี 1972 จะนำมาจากหนังสือคริสตังค์ร้องเพลง หนังสือเทิดเกียรติที่ทำการพิมพ์ครั้งแรกในปีเดียวกันนี้ นอกจากนั้นยังนำมาจากสมุดเพลงของคณะนักบวชต่างๆ ทั้งเพลงไทยและเพลงต่างประเทศ


จากทางตันพลิกผันประวัติศาสตร์
จากงานหัดขับร้องนี้เองกลับก่อให้เกิดการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการเพลงศักดิ์สิทธิ์ของไทย เพราะว่าจากการที่ต้องหัดขับอยู่เป็นประจำ จำเป็นต้องมีบทเพลงเพื่อใช้หัดขับ เป็นต้นบทเพลงใหม่ๆ แรกเลยจากเหล่าหนังสือและสมุดเพลงที่กล่าววมาข้างต้น ก็จัดได้ว่ามีมากพอควรอยู่ แต่พอนานเข้าเกิดภาวะที่ไม่สามารถหาเพลงใหม่มาใช้หัดขับได้ เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีบทเพลงใหม่ๆ ประกอบกับคุณพ่อสำราญ วงศ์เสงี่ยม ได้ช่วยเป็นแรงกระตุ้นส่งเสริมผลักดัน โดยแรกๆ คุณพ่อรับหน้าที่ตรวจเพลงให้ และพวกเณรเองก็ได้เณรที่มีความสามารถ และมีพรสวรรค์ด้านนี้เพิ่มเข้ามา จึงได้เกิดมีการแต่งบทเพลงใหม่ขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการหัดขับสามเณร

ขุนพลเพลง
นักแต่งเพลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีชื่อ และเราจะคุ้นกับงานเพลงของเขามาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่
ว.แก้วมังกร จากบทเพลง มหามารีย์
ป.จันทร์ จากบทเพลง หากแม้นเป็น
ส.ดำเนินสะดวก จากบทเพลง มั่นใจในพระองค์ / ใครรักเราเท่าแม่
ว.พันธุมจินดา จากบทเพลง องค์พระเจ้าผู้กรุณา / สิริมงคล
พ.นามวงศ์ จากบทเพลง ยอมเพราะรัก / รักแท้
ส.อนนตพันธ์ จากบทเพลง สดุดีพระองค์ / พระชุมพา
พ.อานามวัฒน์ จากบทเพลง โรคร้ายในวิญญาณ / รำพึงถึงองค์
ป.ปรีชาวุฒิ จากบทเพลง สวรรค์ ณ แผ่นดิน
อ.ประจงกิจ จากบทเพลง เราจงมา / พระสิริรุ่งโรจน์
ส.สรรค์สร้างกิจ จากบทเพลง พระคริสตกายา
ภัศม์ จากบทเพลง ภารกิจแห่งรัก / ประตูแห่งความเชื่อ
เอากุสติน จากบทเพลง รอยเท้าบนผืนทราย / พระวาจาบันดาลชีวิต
Anthony จากบทเพลง พระเยซูกลับเป็นขึ้นมา
Angelus จากบทเพลง เพลงสดุดีที่ 95 / เมื่อลูกได้เชื่อ
Lazarus จากบทเพลง รักและสันติ / หยดน้ำในพระโลหิต 
นักแต่งเพลงและผลงานเพลงเหล่านี้ เป็นแค่เพียงตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จบนหนทางเส้นนี้ที่สืบสานต่อๆ กันมา

รวมผลงานเพลง
เมื่อมีบทเพลงใหม่ๆ ใช้สำหรับหัดขับอย่างเพียงพอ พวกเณรใหญ่เองได้นำไปหัดต่อให้กับบรรดาสัตบุรุษในงานอภิบาลในวันเสาร์และอาทิตย์ตามวัดต่างๆ ที่ได้ไปทำงาน ได้เกิดมีเสียงเรียกร้องจากสัตบุรุษที่อยากร้องเพลงใหม่ได้บ้าง อย่างไรก็ดีงานในบ้านเณรที่สำคัญต่อมา คือ การนำบทเพลงใหม่มาเขียนโน๊ตทำเป็นชีท และเมื่อได้มากพอสมควรก็จัดทำเป็นรูปเล่มใช้ในการภายใน และได้นำออกบริการแก่วัดต่างๆ ที่สนใจด้วย

หนังสือเพลง
ปี 1980 คณะกรรมการพิธีกรรมแห่งประเทศไทย ได้คัดและรวบรวมเพลงในเบื้องต้นขึ้น เพื่อให้มีเป็นคู่มือสัตบุรุษในเวลาร่วมพิธีกรรม โดยใช่ชื่อว่า “หนังสือเพลงสรรเสริญ”

จากอนุกรรมการกลุ่มแรกเริ่ม ทำหน้าที่ในการหัดขับเพื่อเณรใหญ่แสงธรรม เขียนโน๊ตเพลงทีละตัว พิมพ์เนื้อเพลงโดยการขอยืมเครื่องพิมพ์ดีดจากทางวิทยาลัย ผ่านไปยังงานตรวจแก้ไข จึงได้ออกมาเป็นชีทแต่ละแผ่นๆ และเมื่อชีทมีมากขึ้นจึงได้รวบรวมเย็บเป็นเล่มขึ้นมาเป็นหนังสือชีวิตใหม่เล่ม 1 และมีเล่ม 2 ในเวลาต่อมา เป็นหนังสือที่ใช้ภายในบ้านเณรใหญ่แสงธรรมเท่านั้น ขณะเดียวกันก็กลับกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการจัดทำหนังสือ “เพลงสวรรค์” ในปี 1985  และจากมันสมองบวกกับปลายปากกาของหลายๆ ท่านในกลุ่มรักในเสียงเพลง ได้บรรจงขีดเขียนเป็นท่วงทำนองที่ไพเราะและมีเนื้อหาที่มีสาระกินใจ หลายๆ เพลงได้กลับกลายเป็นบทเพลงอมตะที่ติดหูติดปาก บรรดาสัตบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น มั่นใจในพระองค์ หนทางความจริงและชีวิต ด้วยศรัทธา เชิญเราคริสตชน ฯลฯ

เทปเพลงและห้องบันทึกเสียง
ในช่วงเวลานี้เอง เทปเพลงแสงธรรมก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อสัตบุรุษจะได้รับฟังและคุ้นเคยกับบทเพลง สามารถร้องและร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น ฟังดูเหมือนง่าย แต่การทำเทปในระยะแรกๆ ไม่ได้ง่ายอย่างในปัจจุบันเลย เริ่มแรกทีเดียวจากการประกวดดนตรีภายในบ้าน ได้พบว่า วงต่างๆ ที่เข้าประกวดมีฝีมือและเสียงร้องที่ดี จึงริเริ่มจะทำเทปขึ้น ประกอบกับเสียงเรียกร้องจากสัตบุรุษที่อยากจะฟังเพลงศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะได้ร้องเพลงใหม่ๆ ได้บ้าง และทางบ้านเณรแสงธรรมเองก็มีบทเพลงใหม่ๆ อยู่มาก จึงได้เริ่มลงมืออัดเสียง ครั้งแรกมีอุปสรรคมาก ต้องหาสถานที่ อุปกรณ์ก็ไม่พร้อม ห้องบันทึกเสียงอย่างในปัจจุบันก็ยังไม่มี เข้าไปทำในกรุงเทพฯ ก็ไม่สะดวก แต่ด้วยความพากเพียรพยายาม แสงธรรมชุดหนึ่งจึงกำเนิดมา คุณพ่อสำราญอีกเช่นเคยที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ ได้ช่วยเหลือและขอทุนจากต่างประเทศมาสร้างห้องบันทึกเสียง ซึ่งก็สร้างกันแบบค่อยเป็นค่อยไปจากเงินทุนบ้าง หาเองบ้าง อย่างไรก็ตาม แสงธรรมชุดที่สองจากห้องบันทึกเสียงก็ผลิตตามออกมาจนได้ และต่อด้วยการร้องสดในวัดพร้อมๆ กัน เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในแสงธรรมชุดที่สาม จากนั้นแสงธรรมชุดที่สี่ ห้า จนถึงปัจจุบันชุดที่สิบสามและชุดพิเศษต่างๆ ก็ได้มีโอกาสออกมารับใช้คริสตชนในประเทศไทย

จนถึงวันนี้ 40 ปีแห่งการรับใชงานของพระศาสนจักร อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ก็เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จนกระทั่งต้นปี 2539 ที่ผ่านมาจึงมีมติให้บูรณะซ่อมแซมห้องบันทึกเสียงครั้งใหญ่ ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์ทดแทน

จากความยากลำบากในช่วงแรกๆ แต่เพราะการรวมตัวกันด้วยใจรัก กลุ่มนักร้องประสานเสียงและนักดนตรีแห่งแสงธรรม ซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่่ ได้รวมตัวกันและถูกเรียกว่า “อนุกรรมการบทเพลงศักดิ์สิทธิ์บ้านเณรใหญ่แสงธรรม” โดยการทำงานยังขึ้นกับคณะกรรมการพิธีกรรมแห่งประเทศไทย

สรุป
ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นความพยายาม ความตั้งใจที่จะทำให้คริสตชนใกล้ชิดพระเจ้าให้มากยิ่งขึ้น ในการร่วมพิธีกรรม เป็นต้นบูชามิสซา โดยมีบทเพลงนำไปใช้อย่างดี เหมาะสมและสอดคล้องกับพิธีกรรม และกระทำให้พิธีกรรมมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น

จากวันนั้นในอดีตที่ล้มลุกคลุกคลานบนงานด้านบทเพลงศักดิ์สิทธิ์สู่วันนี้ 40 ปีของบ้านเณรแสงธรรม สี่สิบปีแห่งการสืบสานงานด้านบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ ให้ก้าวไปพร้อมกับความก้าวหน้าของโลก โดยมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งล้วนมาจานน้ำในดีของผู้มีอุปการะคุณทั้งสิ้น

จากเพียงแค่การหัดขับเพื่อร้องให้พิธีกรรมและบูชามิสซาประจำวัน สู่บทเพลงสำเร็จรูปที่สะดวก สามารถฟังและหัดร้องที่ใดก็ได้ โดยมีบทเพลงต่างๆ ให้เลือกใช้อย่างมากมาย สอดคล้องกับเนื้อหาพิธีกรรมประจำวันและบูชามิสซา 
และจากการทำงานของเหล่าผู้มีใจรักกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน ได้พัฒนาเป็นอนุกรรมการบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำงานอย่างเป็นระบบพร้อมกับความตั้งใจดีที่จะรับใช้พระศาสนจักรต่อไปจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เพื่ความเจริญก้าวหน้าและเพื่อให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในพระศาสนจักรต่อไป


ที่มาของห้องบันทึกเสียงแสงธรรม
     คณะอนุกรรมการดนตรีศักดิ์สิทธิ์ บ้านเณรใหญ่แสงธรรมเมื่อแรกเริ่มนั้นเป็นเพียงกลุ่มของสามเณร
ที่รวมตัวกันเพื่อทำงานและรับผิดชอบด้านดนตรีศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเณร  ส่วนช่วงเวลาเริ่มต้นนั้นคาดว่า
น่าจะเริ่มตั้งแต่มีบ้านเณรแสงธรรม หรือไม่ก็ในปี 1978 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจัดทำเทปเพลงแสงธรรม 
ชุด 1 ขึ้น โดยกลุ่มสามเณรที่สนใจและรับผิดชอบเกี่ยวกับดนตรีศักดิ์สิทธิ์ได้ร่วมมือกัน โดยได้รับ
ความช่วยเหลือจากคุณพ่อดังโตแนลที่ได้มอบเครื่องเทป AKAI X-165D ให้และเริ่มการบันทึกเสียงสดในห้องน้ำ เพื่อให้ได้เสียงก้องและไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก
การเริ่มต้นอย่างเป็นทางการนั้นอยู่ในสมัยที่คุณพ่อสำราญ วงศ์เสงี่ยม ดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการดนตรีศักดิ์สิทธิ์ระดับชาติ และได้ขอทุนจากต่างประเทศคือ Missio Aachen Germany และ Maryknoll Fathers Hands International, Katmandu, Nepal เพื่อนำมาสร้างห้องบันทึกเสียง 
ดังนั้นคณะอนุกรรมการดนตรีศักดิ์สิทธิ์บ้านเณรแสงธรรม จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ พร้อมๆกับห้องบันทึกเสียงแสงธรรมในราวเดือนตุลาคม ปี 1980
งานทั่วไปของคณะอนุกรรมการดนตรีศักดิ์สิทธิ์ บ้านเณรแสงธรรมเกี่ยวกับความรับผิดชอบเรื่อง
ดนตรีศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเณร เช่นการซ้อมขับร้อง การเล่นดนตรีในพิธีกรรมและโอกาสต่างๆ การจัดทำหนังสือเพลงและโน้ตเพลง ฯลฯ นอกจากนี้มีการจัดทำบทเพลงศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในพิธีกรรมและ
บำรุงศรัทธาต่างๆเป็นจำนวนมากที่รู้จักในกันนาม “เพลงแสงธรรม” 
ด้วยสำนึกพระคุณต่อ พระศาสนจักร ต่อบ้านเณร เพื่อประกาศพระนามของพระองค์ไปจนสุด
ปลายแผ่นดิน และด้วยสำนึกในพระพรที่พระเจ้าประทานให้กับบรรดาสามเณร ที่มีน้ำใจและ
มีความสามารถทั้งหลาย  ตลอดเวลาที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการดนตรีศักดิ์สิทธิ์ บ้านเณรแสงธรรม
จึงได้รับใช้พระศาสนจักรตลอดมา และสิ่งต่างๆเหล่านี้จะส่งต่อไปยังสามเณรรุ่นน้องที่มีน้ำใจและ
ความสามารถมาสานต่องานที่บรรดาพี่ๆได้เริ่มต้นไว้ต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น